รู้ทันไข้เลือดออก
รู้ทัน “ไข้เลือดออก” ตั้งแต่วันนี้ ก่อนจะสายเกินไป
แม้จะรู้สึกสบายตัวเมื่อฤดูร้อนได้จากไป แต่ฤดูฝนรอบใหม่ในทุก ๆ ปีก็มาพร้อมกับภัยเงียบอย่าง “ไข้เลือดออก” ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กอายุระหว่าง 5 - 14 ปีที่มักไม่ทันได้ระวังตัว
ด้วยเหตุนี้ เพื่อป้องกันคนที่รักจากโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาทำความเข้าใจทุกรายละเอียดเกี่ยวกับโรคร้ายนี้ให้มากขึ้น ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
สาเหตุโรคไข้เลือดออกคืออะไร?
โรคไข้เลือดออก คือ โรคติดต่อที่มียุงลายเป็นตัวพาหะนำโรค โดยสาเหตุไข้เลือดออกเกิดจากการที่ยุงลาย Aedes Aegypti หรือ Yellow Fever Mosquito ตัวเมีย ไปดูดเลือดจากผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Fever) โดยหลังจาก 8 - 12 วันหลังจากดูดเลือดผู้ป่วย เชื้อไวรัสจะฟักและฝังตัวในกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง
เมื่อยุงลายตัวเมียที่มีเชื้อไวรัสเดงกีอยู่ในตัวไปกัดคนอื่นต่อ ตัวเชื้อไวรัสที่อยู่บริเวณต่อมน้ำลายก็จะแพร่เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งหากปล่อยให้วงจรดังกล่าวนี้อยู่ต่อไป ก็จะกลายเป็นการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากต่อไป
ไข้เลือดออกอันตรายแค่ไหน?
ปัจจุบันนี้ ไวรัสเดงกีที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกมีด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ซึ่งเมื่อได้รับเชื้อจากยุงลายแล้ว อาการป่วยจะเริ่มแสดงออกภายใน 3 - 5 วัน โดยหลังจากแสดงอาการได้ 3 วัน ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มจะมีภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือตกเลือด ไปจนถึงภาวะการไหลเวียนเลือดล้มเหลว ทำให้ระดับเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำลง ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้ และด้วยภาวะเลือดออกที่ต่าง ๆ ภายในร่างกายนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อโรคว่า “ไข้เลือดออก” นั่นเอง
วิธีสังเกตอาการไข้เลือดออก
อาการโรคไข้เลือดออกโดยเบื้องต้นจะมีด้วยกัน 3 ระยะ ซึ่งจะมีวิธีตรวจไข้เลือดออกและสังเกตอาการเบื้องต้น ดังนี้
- ระยะไข้ นาน 2 - 7 วัน อาการไข้เลือดออกระยะเริ่มต้น หรือระยะไข้นี้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งไข้ดังกล่าวจะไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ประเภทต่าง ๆนอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมักมีอาการปวดตัว ปวดกระบอกตา มีอาการตัวแดง ตาแดง ทั้งยังมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาเจียนร่วมด้วย
- ระยะวิกฤต นาน 24 - 48 ชั่วโมง อาการโรคไข้เลือดออกในระยะวิกฤต หากผู้ป่วยไม่มีอาการแทรกซ้อน ไข้สูงจะค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่องแต่หากอาการแทรกซ้อน หรือยังไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์หลังจากเป็นไข้สูงนาน 2 - 3 วัน ผู้ป่วยอาจมีภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือภาวะการไหลเวียนเลือดล้มเหลวเกิดขึ้น เนื่องจากเกร็ดเลือดต่ำ ส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรืออาจมีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด ทั้งยังอาจเกิดอาการกระสับกระส่าย ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง ชีพจรเบา เร็ว จนเกิดภาวะช็อก และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
- ระยะฟื้นตัวหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยจะพ้นระยะวิกฤตและเข้าสู่ช่วงระยะฟื้นตัว จะสังเกตได้จากไข้ที่ลดลง อาการทั่วไปกลับมาเป็นปกติ ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรกลับมาเต้นเป็นจังหวะปกติ อีกทั้งยังมีอาการอยากอาหารมากขึ้นอีกด้วย โดยผู้ป่วยในระยะฟื้นตัวอาจมีอาการคัน ผื่นแดง และจุดเลือดเล็ก ๆ ออกตามตัวได้เช่นกัน
การดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเบื้องต้น
หากสังเกตเห็นอาการไข้เลือดออกในระยะเริ่มต้น และผู้ป่วยได้ผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์เป็นที่เรียบร้อย ทุกคนสามารถดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นได้ ดังนี้
- เช็ดตัวเพื่อลดไข้ผู้ป่วย พร้อมให้รับประทานยาลดไข้ตัวยากลุ่มพาราเซตามอล ห้ามให้ยากลุ่มแอสไพริน และ ไอบูโพรเฟนเด็ดขาด เนื่องจากยา 2 กลุ่มนี้อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารได้
- หากไข้ยังไม่ลดลงภายใน 3 วัน หรือมีอาการอาเจียน ปวดท้อง เลือดกำเดาไหล ตัวและมื้อเท้าเย็น ควรรีบนำผู้ป่วยเข้าพบแพทย์โดยด่วน
วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก
สาเหตุไข้เลือดออกเกิดจากยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค ซึ่งถึงแม้จะไม่สามารถแยกได้ว่ายุงลายตัวไหนมีเชื้อไวรัสเดงกี แต่ทุกคนสามารถป้องกันตัวเองจากยุงลายได้ ดังนี้
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบพื้นที่อยู่อาศัย เช่น ป้องกันการเกิดน้ำขัง ปิดและกำจัดภาชนะและพื้นที่ที่อาจเกิดน้ำขังได้ ตลอดจนหมั่นเปลี่ยนน้ำในพื้นที่น้ำขัง เช่น แจกัน และจานรองป้องกันมด
- ปิดฝาโอ่งน้ำ หรือใช้ทรายอะเบตที่สามารถบริโภคได้เทใส่โอ่งรองน้ำในอัตราส่วน 10 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร เพื่อป้องกันการเพาะพันธุ์ของยุงลาย
- ติดตั้งมุ้งลวดภายในบ้าน หรือนอนภายในมุ้ง
- ฉีดวัคซีนไข้เลือดออกเพื่อป้องกันไวรัสเดงกี สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับวัคซีนไข้เลือดออก
แม้ยุงลายจะมีขนาดตัวเล็กนิดเดียว แต่ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคร้ายอย่างไข้เลือดออกได้เช่นกัน ลองมาฟังประสบการณ์ไข้เลือดออกจากบุคคลเหล่านี้ เพื่อให้คุณและคนที่คุณรักเข้าใจโรคไข้เลือดออกมากขึ้น พร้อมเตรียมรับมือและวางแผนดูแลบ้านเพื่อให้ห่างไกลจากโรคร้ายนี้กัน
รู้ทันไข้เลือดออก
ฟังประสบการณ์ไข้เลือดออกจากบุคคลเหล่านี้ เพื่อให้คุณและคนที่คุณรักปลอดภัยและห่างไกลจากโรค
ไข้เลือดออกใกล้ตัวและน่ากลัวกว่าที่คิด
ปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านท่านเพื่อรู้ทันและป้องกันไข้เลือดออก