โรคไข้เลือดออก โรคที่มียุงเป็นพาหะซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะวัยไหน ๆ และเป็นโรคที่อาจอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาและดูแลที่ถูกวิธีโดยเฉพาะในผู้สูงอายุซึ่งมีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่าคนหนุ่มสาว ในบทความนี้เราจะพาคุณมารู้จักแนวทางการรักษาไข้เลือดออกในผู้สูงอายุกัน[1]
โรคไข้เลือดออกมีอาการอย่างไร?
หากถูกยุงที่เป็นพาหะโรคไข้เลือดออกกัด จะสามารถสังเกตถึงอาการไข้เลือดออกได้ในประมาณ 4-7 วัน โดยอาการในระยะแรกอาจไม่ชัดเจนนัก เพราะผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้สูงนาน 2-7 วัน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว และอ่อนเพลีย หลังจากนั้นเมื่อไข้สูงเริ่มลดลง จะเข้าสู่อาการระยะที่ 2 คืออาจมีเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดออกตามผิวหนังได้ โดยเมื่อเริ่มเข้าสู่ระยะที่ 2 ควรเฝ้าระวังผู้ป่วยให้ดี เพราะอาจเกิดอาการช็อกได้ หลังจากนั้นร่างกายจะเข้าสู่ระยะฟื้นตัวต่อไป[2]
ทำไมต้องดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออกกลุ่มผู้สูงอายุเป็นพิเศษ
ผู้สูงอายุที่เป็นโรคไข้เลือดออกควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะว่าผู้สูงอายุมักจะมีอาการรุนแรงจากโรคไข้เลือดออกมากกว่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว[3]
แนวทางการรักษาไข้เลือดออกในผู้สูงอายุ[4]
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะโรคไข้เลือดออก วิธีรักษาไข้เลือดออกในปัจจุบันจึงเป็นการรักษาตามอาการ โดย
- เช็ดตัวผู้ป่วยด้วยผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เพื่อลดไข้
- ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเยอะ ๆ และจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ รวมถึงช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย
- อาจให้ยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอลได้ แต่ห้ามใช้ยาลดไข้ที่มีส่วนผสมของแอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน
- พบแพทย์เพื่อให้น้ำเกลือ หากมีอาการอาเจียน คลื่นไส้
- พบแพทย์เพื่อให้เลือด หากมีเลือดออกมากตามอวัยวะต่าง ๆ หรือมีเลือดปนในอาเจียน หรือในอุจจาระ
ข้อสำคัญในการดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออกที่เป็นผู้สูงอายุ[5]
เมื่อรู้แล้วว่าโรคไข้เลือดออกในผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุมีอาการอย่างไรบ้าง และมีแนวทางการรักษาอย่างไร เรามาดูกันเลยว่ามีข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามที่สำคัญใดบ้างเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออกที่เป็นผู้สูงอายุ
ห้ามให้ยากลุ่มแอสไพรินและยากลุ่ม NSAID[5]
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออกคือ ห้ามให้ยากลุ่มแอสไพรินและยากลุ่ม NSAID เด็ดขาด เพราะยากลุ่มนี้อาจทำให้เลือดออกง่ายและมากขึ้นได้ โดยควรให้ยาเฉพาะที่แพทย์สั่งเท่านั้น
ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเยอะ ๆ[5]
เพื่อช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำและขาดเกลือแร่ ควรให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกดื่มน้ำให้มากเพียงพอ และอาจเลือกดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำผลไม้ร่วมด้วยได้
ควรเช็ดตัวให้ผู้ป่วยด้วยน้ำอุ่น[5]
เมื่อผู้ป่วยไข้เลือดออกมีไข้สูง ผู้ดูแลควรเช็ดตัวผู้ป่วยด้วยน้ำอุ่นบ่อย ๆ เพื่อช่วยลดไข้ และควรเลี่ยงการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น และการอาบน้ำเย็น เพราะอาจทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะช็อกจากอุณหภูมิภายนอกร่างกายกับภายในร่างกายต่างกันจนเกินไป
ควรให้ผู้ป่วยทานอาหารย่อยง่าย[5]
เมื่อร่างกายมีไข้สูง และติดเชื้อไวรัสเดงกี แน่นอนว่าย่อมไม่สามารถย่อยอาหารได้เป็นปกติ และอาจมีอาการไม่อยากอาหาร ดังนั้นจึงควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย อย่างข้าวต้มและโจ๊กเป็นหลักก่อน เพื่อไม่ให้ร่างกายต้องทำงานหนัก
คอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด[5]
ข้อควรปฏิบัติอีกหนึ่งข้อที่ไม่ควรละเลยก็คือ การเฝ้าสังเกตอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และควรรีบพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการอาเจียนมาก ปวดท้องมาก ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวเย็นผิดปกติ หรือไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง
เรียนรู้ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาไข้เลือดออกในผู้สูงอายุเอาไว้เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลคนสำคัญของคุณได้ทุกเมื่อ Know Dengue ยังมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตัวเองและคนที่คุณรักจากโรคไข้เลือดออก พร้อมให้คุณเรียนรู้
VV-MEDMAT-106174 : JUN2024
ข้อมูลอ้างอิง:
- โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายจากยุงลาย. สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566 จาก https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/dengue
- ไข้เลือดออก อันตราย!. สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566 จาก https://www.sikarin.com/doctor-articles/ไข้เลือดออก-อันตราย
- ‘คนแก่-เด็ก’ ระวังไข้เลือดออกไข้สูงไม่ลด 2 วันรีบพบแพทย์. สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566 จาก http://www.thaihealth.or.th/คนแก่-เด็ก-ระวังไข้เลือ/
- มีวิธีรักษาและดูแลตัวเองเมื่อเป็นไข้เลือดออกอย่างไร ไม่ให้ช็อก!. สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566 จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ไข้เลือดออก/
- ไข้เลือดออก ป้องกันได้…แต่ถ้าเป็นแล้วล่ะ. สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566 จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=780