ไข้เลือดออก vs ไข้หวัดใหญ่ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง ?

ประเทศไทยอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อนชื้น ซึ่งมักจะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี โดนหากมองเผิน ๆ ทั้งสองโรคนี้มีความคล้ายคลึงกันอย่างมากจนอาจแยกไม่ออก ดังนั้น บทความนี้จึงจะมาให้ความรู้ว่าไข้เลือดออก vs ไข้หวัดใหญ่ ทั้งสองโรคมีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อการสำรวจตัวเอง รับมือ และชี้แจงกับแพทย์ได้ดียิ่งขึ้น ติดตามได้เลย

 

รอบด้านเรื่องโรคไข้เลือดออก[2]

ก่อนจะเปรียบเทียบว่าไข้เลือดออกกับไข้หวัดใหญ่แตกต่างกันอย่างไร เราต้องมาทำความรู้จักทั้ง 2 โรคนี้ให้รอบด้านเสียก่อน โดยสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกมีดังต่อไปนี้

  • สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกีกัดคน เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายและแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด ก่อให้เกิดอาการของโรคไข้เลือดออกตามมา
  • อาการ : อาการของโรคไข้เลือดออกที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้สูงเฉียบพลัน มักจะสูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจพบผื่นแดง หรือจุดจ้ำเลือดตามผิวหนัง บางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น มีเลือดออกตามไรฟัน เหงือก ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 
  • การตรวจวินิจฉัย : ไข้เลือดออกกับไข้หวัดใหญ่สามารถแยกได้ด้วยการตรวจเลือด โดยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในเลือดจะมีเชื้อไวรัสเดงกี หรือแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัส นอกจากนี้ ควรตรวจนับเม็ดเลือดเพื่อประเมินภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการทำงานของตับด้วย
  • การดูแลและรักษา : เป็นการรักษาตามอาการ เน้นการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หากมีไข้สูงให้ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ แต่ห้ามใช้ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือยากลุ่ม NSAIDs เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออก

 

รอบด้านเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่[2]

  • สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า ซึ่งมีหลายสายพันธุ์และมีการกลายพันธุ์อยู่เสมอ ทำให้เชื้อไวรัสชนิดใหม่เกิดขึ้นได้ในทุกปี โรคไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ติดเชื้อ
  • อาการ : อาการของโรคไข้หวัดใหญ่มักเริ่มต้นอย่างเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย มีไข้สูงประมาณ 38-40 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาจมีอาการไอแห้ง ๆ เจ็บคอ และมีน้ำมูก อาการมักจะรุนแรงในช่วง 2-3 วันแรก และค่อย ๆ ทุเลาลงภายใน 5-7 วัน แต่อาจพบอาการไอและอ่อนเพลียได้นานถึง 2 สัปดาห์
  • การวินิจฉัย : อาศัยอาการทางคลินิก และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสจากสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ เช่น เสมหะ หรือ Nasopharyngeal swab
  • การดูแลและรักษา : เป็นการรักษาตามอาการเช่นเดียวกับไข้เลือดออก โดยเน้นการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอลเมื่อมีไข้สูง ร่วมกับการเช็ดตัวเพื่อลดไข้ อาจใช้ยาแก้ไอ ยาแก้ปวดตามความจำเป็น แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินเนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไรย์ซินโดรม (Reye's Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะรุนแรงที่มีผลต่อตับและสมอง


ยุงกัดแขนทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้เลือดออก

 

ตารางเปรียบเทียบอาการไข้เลือดออกกับไข้หวัดใหญ[3]

 

หัวข้อ

ไข้เลือดออก

ไข้หวัดใหญ่

สาเหตุ

เชื้อไวรัสเดงกี 4 สายพันธุ์

เชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า

การแพร่กระจาย

ผ่านยุงลาย

ทางละอองฝอยจากการไอ จาม พูด หรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อน

ระยะฟักตัว

4-10 วัน

1-4 วัน

อาการ

ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน เบื่ออาหาร มีผื่นแดงจุดเล็ก ๆ หน้าแดง ตาแดง อาจมีเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดา หรืออาเจียนเป็นเลือด (ในรายที่รุนแรง)

ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย (บางราย)

ภาวะแทรกซ้อน

ช็อกจากภาวะเลือดออกรุนแรง ภาวะตับล้มเหลว ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว

ปอดบวม หลอดลมอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ ไตวาย

การรักษา

รักษาตามอาการ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานยาลดไข้ แต่ห้ามใช้ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือยากลุ่ม NSAID

รักษาตามอาการ รับประทานยาแก้ปวด ยาลดไข้ พักผ่อน ดื่มน้ำเยอะ ๆ หลีกเลี่ยงยาแอสไพริน

การป้องกัน

ฉีดวัคซีนไข้เลือดออก กำจัดยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ใช้น้ำยาไล่ยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิด

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย


 

 

เมื่อได้รู้แล้วว่าไข้เลือดออก vs ไข้หวัดใหญ่ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง ทุกคนก็สามารถสำรวจอาการตัวเองเบื้องต้นได้ รวมถึงเฝ้าระวังไม่ให้ไปอยู่ในจุดที่เสี่ยงของแต่ละโรค โดยยิ่งรู้เท่าไร ก็ยิ่งป้องกันดูแลตัวเองได้ดียิ่งขึ้น และถ้าหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก ไม่ว่าจะโรคไข้เลือดออกคืออะไร ไปจนถึงไข้เลือดออกเกิดจากสาเหตุใดบ้าง สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เพิ่มเติมได้ที่ Know Dengue 

 

VV-MEDMAT-113824: DEC 2024

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Dengue Fever. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 จาก https://www.webmd.com/a-to-z-guides/dengue-fever-reference
  2. Key Facts About Influenza (Flu). สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 จาก https://www.cdc.gov/flu/about/keyfacts.htm#:~:text=Flu%20is%20a%20contagious%20respiratory,a%20flu%20vaccine%20each%20year.
  3. Understanding the difference between dengue, flu, and COVID-19. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 จาก https://www.thedailystar.net/life-living/health-fitness/news/understanding-the-difference-between-dengue-flu-and-covid-19-3405046