ไข้เลือดออกพบได้ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ได้แก่ แอฟริกา อเมริกา เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก ผู้ที่อาศัยหรือเดินทางไปยังพื้นที่เหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยรวมร้อยละ 40 ของประชากรโลกหรือประมาณสามพันล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก แต่ก็มีผู้คนบางกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไข้เลือดออกมากกว่าคนอื่น ๆ และควรต้องเฝ้าระวังการเป็นโรคไข้เลือดออกมากกว่าปกติ
การแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออก
คนสามารถติดเชื้อไข้เลือดออกจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด ยุงลายที่แพร่เชื้อไข้เลือดออกอาศัยและขยายพันธุ์อยู่ทั้งในเขตชุมชนเมืองขนาดเล็กและใหญ่ รวมถึงชนบท ยุงจะกินเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นอาหาร ชอบกินเลือดมนุษย์เป็นพิเศษ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ดังนั้นทุกวัยมีโอกาสป่วยเป็นไข้เลือดออกได้
สถิติการติดเชื้อไข้เลือดออก และการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก
มีการประมาณการว่าในแต่ละปีมีประชากรถึง 400 ล้านคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไข้เลือดออกและมีการติดเชื้อ โดยมี 100 ล้านคนจากจำนวนดังกล่าวที่แสดงอาการแบบไม่รุนแรง และในแต่ละปีมีประชากรประมาณ 40,000 คนเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้เลือดออกรุนแรง[1]
ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไข้เลือดออก?[2]
กลุ่มเสี่ยงไข้เลือดออกสามารถแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อ และกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อแล้วมีโอกาสแสดงอาการที่รุนแรง ซึ่งทั้งสองกลุ่มจะมีเกณฑ์การจำแนกที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มแรกจะวัดจากความเสี่ยงตามสถานที่อยู่อาศัย และปัจจัยจากสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่
- ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มียุงลายชุกชุม เช่น พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง พื้นที่ที่มีต้นไม้หนาทึบ
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกระบาด เพราะมีโอกาสติดเชื้อจากคนสู่คนได้
- ผู้ที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีไข้เลือดออกระบาด
ในส่วนของกลุ่มเสี่ยงไข้เลือดออกประเภทที่ 2 จะแบ่งจากสภาพร่างกาย อายุ และความเสี่ยงจากการรับประทานยา ซึ่งเป็นตัวแปรที่ทำให้หลังติดเชื้อแล้ว มีโอกาสแสดงอาการออกมาอย่างรุนแรง โดยกลุ่มที่ถูกระบุว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงในประเภทนี้ ได้แก่
- เด็กทารกและเด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคเลือด
- ผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกแล้ว
วิธีป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออก
สำหรับวิธีป้องกันการติดเชื้อ โดยผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เข้าข่ายการเป็นกลุ่มเสี่ยงไข้เลือดออก สามารถรับมือได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีป้องกันตามขั้นตอนด้านล่างนี้
1. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
“ยุงลายตัวเมีย” เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก มีวัฏจักรชีวิตในการผลิตไข่ผ่านการดูดเลือดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลากหลายชนิด รวมทั้งมนุษย์ โดยจะใช้ปากซึ่งเป็นเสมือนเข็มเจาะเข้าไปยังบริเวณผิวหนัง หลังจากนั้นจะพ่นน้ำลายเข้าสู่ผิวหนัง ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดผื่นคัน และยังสามารถแพร่เชื้อโรคต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น ไข้เด็งกี (ไข้เลือดออก), ไข้เหลือง, ไข้สมองอักเสบ และโรคชิคุนกุนยา[3]
ดังนั้น วิธีป้องกันการติดเชื้อของกลุ่มเสี่ยงไข้เลือดออกที่ดีที่สุด จึงเป็นการหยุดวัฏจักรการเติบโตของยุงลาย โดยการทำลายแหล่งน้ำขังซึ่งเป็นสถานที่วางไข่ เช่น ยางรถยนต์เก่าที่มีน้ำขัง กระถางต้นไม้ แจกัน หากพบว่ามีความเสี่ยงเหล่านี้อยู่ใกล้ที่พักอาศัย แนะนำให้ทำการจัดการด้วยวิธีง่าย ๆ เหล่านี้
- เก็บภาชนะที่ใส่น้ำไว้ให้มิดชิด เช่น ปิดฝาถังน้ำ ปิดฝาโอ่งน้ำ คว่ำกะละมังน้ำทิ้ง
- เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้และภาชนะใส่น้ำทุกสัปดาห์
- ตัดกิ่งไม้หรือใบไม้ที่รกรุงรังไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุงลาย
- กำจัดขยะมูลฝอยไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของน้ำขัง
2. ใส่เสื้อผ้าที่ป้องกันยุงกัด
หลังจากป้องกันที่แหล่งกำเนิดยุงลายกันไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยแบบไว้วางใจได้ ดังนั้น การสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดก็จะเป็นอีกหนึ่งปราการสำคัญ ที่มีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้ยุงลายกัดได้ง่าย ๆ นั่นเอง
3. ทายากันยุงเสมอ
สำหรับในส่วนของผิวที่เสื้อผ้าไม่สามารถป้องกันได้ถึง ให้ใช้วิธีการทายากันยุงจนทั่ว เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยสามารถใช้ได้ทั้งยากันยุงชนิดพ่นหรือทา และควรพกติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อมีโอกาสไปตามบริเวณที่มียุงชุกชุม
4. ปิดประตูหน้าต่าง และติดมุ้งลวด
วิธีสุดท้ายคือการป้องกัน โดยเสริมเกราะให้กับที่พักอาศัย ด้วยการปิดประตูหรือหน้าต่าง ซึ่งเป็นช่องทางที่ยุงใช้เข้ามาภายในเคหสถาน ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องตรวจสอบเพื่อปิดให้สนิทเสมอ หรือจะติดมุ้งลวดเพิ่มเติม เพื่อป้องกันอีกชั้นก็ได้เหมือนกัน[4]
ระวังอาการไข้เลือดออกเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าวัยผู้ใหญ่ รวมถึงอาจไม่สามารถป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัดได้ทัน เพียงทำตามวิธีที่เราแนะนำ พร้อมติดตาม Know Dengue เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกและการป้องกันไข้เลือดออกในเด็กและผู้ใหญ่ที่ถูกวิธี!
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้การป้องกันไข้เลือดออกสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งเป็นส่วนลดความรุนแรงของอาการลงได้ และเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการป้องกัน ควบคู่กับมาตรการ 3 ก และ 5 ป
VV-MEDMAT-100971: APR 2024