อาการไข้เลือดออกในเด็กกับความเสี่ยงที่ต้องระวัง

ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มักระบาดหนักในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่มีแหล่งน้ำขังสูง และมีน้ำสะสมตามภาชนะมากมาย ทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่ดี โดยความน่ากลัวของโรคนี้ คือหากเกิดโรคไข้เลือดออกในเด็กเล็กที่มีอายุน้อย หรือเด็กทารก อาจมีอาการรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
 

ความรุนแรงของอาการไข้เลือดออกในเด็ก


สำหรับวัยเด็กและทารก ก็สามารถติดเชื้อไข้เลือดออกได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ จากการถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 10-14 ปี มักมีความเสี่ยงเป็นไข้เลือดออกมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ แต่สำหรับในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 10 ปี มักมีความเสี่ยงต่ออาการไข้เลือดออกเด็กรุนแรง โดยเฉพาะในวัยทารกจะมีความเสี่ยงต่ออาการไข้เลือดออกรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการวินิจฉัยอาการในเด็กเป็นไปได้ยาก และอาการที่เกิด อาจมีความคล้ายคลึงกับการติดเชื้อทั่วไปอื่น ๆ ได้ โดยสามารถแบ่งตามอาการของโรค ออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะไข้สูง : เมื่อเริ่มเป็น มักจะมีไข้สูงถึง 38-40 องศาเซลเซียส จะเป็นอยู่ประมาณ 5-6 วัน โดยอาจมีอาการหวัด อาการปวดเมื่อย คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้
  2. ระยะวิกฤต : เป็นอาการที่มีไข้สูงติดต่อกันหลายวัน มักจะมีอาการเพลีย หมดแรง และมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกายมากขึ้น รวมถึงมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ประกอบร่วมด้วย
  3. ระยะพักฟื้น : เป็นอาการหลังไข้ลดลง อาการโดยทั่วไปจะดีขึ้น ระบบการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้อวัยวะต่าง ๆ เริ่มทำงานเป็นปกติ
     

สาเหตุไข้เลือดออกในเด็กที่มีความเสี่ยงสูง


การระบาดของโรคไข้เลือดออกในบางครั้ง อาจพบผู้ป่วยเด็กได้มากถึงร้อยละ 70 เพราะมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อไข้เลือดออกได้ง่ายมากกว่า รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันในเด็กยังอ่อนแอกว่าวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กที่มีกิจกรรมออกไปเล่นข้างนอกบ้านบ่อย ๆ โดยในสถานที่นั้น ๆ จะมีมาตรการการป้องกันยุงกัดน้อย รวมถึงในบางพื้นที่อย่างโรงเรียน อาจเป็นสถานที่เกิดปัญหายุงชุกชุมได้ง่าย เนื่องจากมีการเปิดหน้าต่างและประตูอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงไม่มีการใช้สารไล่ยุงเป็นประจำ
 

การป้องกันไข้เลือดออกในเด็ก

การป้องกันและวิธีรักษาไข้เลือดออกในเด็กสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวพ่อแม่และผู้ปกครอง โดยควรให้ความระมัดระวังเรื่องสถานที่อยู่อาศัย และหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงมากัดที่ตัวเด็กได้ โดยสามารถปฏิบัติได้ดังนี้

  • ให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าที่ใส่สบาย โดยให้มีแขนเสื้อปกคลุมแขนและขา ซึ่งจะช่วยปกป้องผิวเด็กจากการถูกยุงกัด
  • สำหรับการป้องกันไข้เลือดออกในเด็กทารก ให้เลือกใช้มุ้งคลุมรถเข็นเด็ก อุปกรณ์อุ้มเด็ก และเปล เพื่อป้องกันยุงและแมลงรบกวนต่าง ๆ
  • การใช้สารไล่แมลงที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติ จะมีความปลอดภัยสำหรับเด็กมากกว่า
  • หากบุตรหลานของท่านอาศัยอยู่หรือเคยไปในพื้นที่ที่เป็นแหล่งไข้เลือดออก และต่อมามีอาการไข้หรือปวดศีรษะรุนแรง ให้นำเด็กไปตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อปรึกษาแพทย์ในการหาแนวทางวิธีรักษาไข้เลือดออกในเด็กที่ถูกต้องต่อไป

 

การฉีดวัคซีนในส่วนการป้องกัน

 

ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกในเด็กซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ ลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และป้องกันการเกิดโรครุนแรงเมื่อติดเชื้อได้ ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 4 - 60 ปี

เด็กเล็กและทารกสามารถติดเชื้อไข้เลือดออกได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยเฉพาะหากมารดามีอาการติดเชื้อโรคไข้เลือดออกระหว่างตั้งครรภ์จะมีความรุนแรง และอาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือทำให้น้ำหนักตัวของทารกแรกเกิดมีเกณฑ์ต่ำกว่าที่กำหนดได้ รวมถึงอาจส่งผลทำให้เสียชีวิต ดังนั้น การปกป้องตัวท่านเองจากการถูกยุงกัด โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจให้มากขึ้น

Reference:

  1. https://www.phyathai.com/article_detail/2573/th/ไข้เลือดออกในเด็ก...ป้องกันได้ 

  2. https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/october-2015/dengue-fever-children 

  3. https://www.sikarin.com/mother-and-child/โรคไข้เลือดออกในเด็ก 

  4. https://www.nakornthon.com/article/detail/ไข้เลือดออกในเด็ก-ภัยเงียบจากยุงร้าย 

  5. https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=257