เจาะลึกชนิดของยุง พาหะโรคร้าย อันตรายถึงชีวิต

การพบเจอกับแมลงหลากหลายชนิด ถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากคุณอาศัยอยู่ในประเทศที่มีอากาศร้อนชื้น และ 'ยุง' ก็เป็นแมลงที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ทำให้หลายคนอาจจะมองข้ามไปและไม่คิดว่ายุงตัวเล็ก ๆ จะสร้างปัญหาให้เราได้นอกจากการกัดจนแสบ ๆ คัน ๆ เท่านั้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยุงในประเทศไทยมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ และไม่ใช่แค่กัดแล้วรู้สึกเจ็บเท่านั้น แต่ยุงยังเป็นพาหะของโรคร้ายหลายชนิด ซึ่งบางโรคก็เป็นอันตรายถึงชีวิต อย่ามองข้ามไปจนเกิดเหตุที่คาดไม่ถึง แล้วในประเทศไทย ยุงมีกี่ชนิดกันแน่ มารู้จักกับประเภทของยุงและโรคที่เกิดจากยุง รวมทั้งวิธีป้องกันตัวเองจากยุงก่อนโรคร้ายมาเยือนกันดีกว่า

 

สรุปชัด ยุงมีกี่ชนิด อะไรบ้าง?

 

ยุง เป็นแมลงดูดเลือดที่สามารถพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น หากโดนกัดจะก่อให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง เป็นตุ่ม และมีอาการผื่นแพ้ ซึ่งจากการสำรวจชนิดของยุงทั่วโลก พบว่ามีมากถึง 4,000 ชนิด ส่วนในประเทศไทย มีประมาณ 450 ชนิด โดยยุงที่พบบ่อยมี 4 ชนิดด้วยกัน ดังนี้[1]

 

ยุงลาย

 

ยุงลายมีลำตัวเป็นสีดำสลับกับสีขาว ขาเป็นปล้อง ปากยาว มีความว่องไวสูง ชอบออกหากินตอนกลางวัน มักวางไข่ในแหล่งน้ำขังและน้ำนิ่งในภาชนะต่าง ๆ ถือเป็นยุงที่พบได้บ่อยที่สุดในบ้านเรือนทั่วไป และเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา โรคไข้เหลือง และโรคไข้ซิก้า[1]

 

ยุงรำคาญ

 

ยุงรำคาญเป็นพาหะของโรคไข้สมองอักเสบ โรคเท้าช้าง และโรคไข้เวสต์ไนล์ ลำตัวมีสีน้ำตาล ปีกเป็นสีใส พบมากในแหล่งน้ำสกปรกและแหล่งน้ำเน่าเสีย วางไข่แบบติดกันเป็นแพ และมักกัดสัตว์อย่างวัว ควายมากกว่ากัดคน[1]

 

ยุงก้นปล่อง

 

ยุงก้นปล่องที่โตเต็มวัย ลำตัวจะมีลักษณะเป็นสีซีดหรือสีน้ำตาล บนปีกมีจุดสีดำ ออกหากินในเวลากลางคืน อยู่อาศัยในป่า แหล่งน้ำสะอาดและพื้นที่ที่ไม่มีมลภาวะ เป็นพาหะของโรคไข้มาลาเรีย[1]

 

ยุงลายเสือ

 

เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ายุงเสือ เป็นพาหะของโรคเท้าช้าง สังเกตเห็นได้ง่ายกว่ายุงชนิดอื่น ๆ เพราะลำตัวมีลวดลายสีเข้ม บางตัวก็มีลวดลายคล้ายเสือ ปีกมีเกล็ดหยาบ อยู่อาศัยในแหล่งน้ำที่มีวัชพืชขึ้น นิยมออกหากินในเวลากลางคืน[1]

 

ประเภทของยุงที่เป็นพาหะโรคร้าย

 

ระวังก่อนสาย รู้จัก 5 โรคร้ายที่เกิดจากยุง

 

นอกจากชนิดของยุงที่เราพูดถึงกันไปในข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ก็คือการป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัด เพราะยุงหลายชนิด ก็เป็นพาหะของโรคร้ายที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และนี่คือ 5 โรคจากยุงที่ควรระมัดระวัง รวมถึงปกป้องตัวเองและคนที่คุณรักจากโรคเหล่านี้ก่อนสายไป

 

โรคไข้เลือดออก

 

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี มักระบาดในฤดูฝน อาการเบื้องต้นคือมีไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร พบจ้ำเลือดเล็ก ๆ ตามผิวหนัง มีเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล และปวดท้อง หากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวและเสียชีวิตได้[2]

 

โรคชิคุนกุนยา

 

เป็นโรคที่ไม่ติดต่อจากคนสู่คน แต่จะติดต่อจากยุงสู่คน และจากแม่สู่ลูกในครรภ์ มีสาเหตุมาจากไวรัสชิคุนกุนยา อาการเบื้องต้นคล้ายโรคไข้เลือดออก แต่จะมีอาการข้อบวม ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นผื่น และตาแดงร่วมด้วย[2]

 

โรคไข้สมองอักเสบ

 

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส เป็นการแพร่จากสัตว์สู่คนโดยมียุงรำคาญเป็นพาหะ เบื้องต้นผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึม มีตุ่มน้ำพองขึ้นตามผิวหนัง และอาจก่อให้เกิดอาการชักได้[2]


โรคเท้าช้าง

 

เป็นภาวะที่ท่อน้ำเหลืองเกิดการอุดตัน ทำให้อวัยวะบางส่วน เช่น แขน ขา อวัยวะเพศ มีลักษณะบวมโตผิดปกติ แรกเริ่มมักมีอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หากปล่อยไว้จะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีความแข็งและขรุขระขึ้น และอวัยวะบวมถาวร ชนิดของยุงที่เป็นพาหะของโรคนี้ ได้แก่ ยุงเสือ และยุงรำคาญ[2]

 

โรคไข้มาลาเรีย

 

อาการของผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรีย ส่วนใหญ่จะมีไข้สูง หนาวสั่น เม็ดเลืองแดงแตก ทำให้ผิวดูซีดลง หากอาการรุนแรงมาก จะมีภาวะไตวาย ตับอักเสบ ปอดมีความผิดปกติ รวมถึงส่งผลกระทบถึงสมอง บางรายอาการหนัก อาจเสียชีวิตได้ มักระบาดในบริเวณป่าเขา จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าไข้ป่านั่นเอง[2]

 

เมื่อรู้แล้วว่ายุงมีกี่ชนิด ประเภทของยุงมีอะไรบ้าง รวมถึงการถูกยุงกัดส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกที่เป็นอันตรายถึงชีวิตและยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะโรค "ดังนั้นจึงต้องป้องกันไข้เลือดออก โดยปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันโรคไข้เลือดออกโดยกรมควบคุมโรคและกทม. ตามมาตรการ “3ก 5ป” ( 3เก็บ: เก็บบ้าน, เก็บขยะ, เก็บน้ำ และ5 ป.ปราบยุงลาย: ปิด, ปล่อย,เปลี่ยน, ปรับปรุง, ปฏิบัติ) และอีกทางเลือกหนึ่ง คือการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก เพื่อสร้างเกราะป้องกันไข้เลือดออกให้ตัวเองและคนที่คุณรัก" และสามารถอ่านความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ที่เว็บไซต์ Know Dengue 

 

VV-MEDMAT-106175 : JUN 2024

ข้อมูลอ้างอิง

  1. ยุงร้ายกว่าเสือ Mosquitoes. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://nih.dmsc.moph.go.th/login/filedata/Mosquitoes.pdf
  2. โรคที่มียุงเป็นพาหะ. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://resourcecenter.thaihealth.or.th/mediadol/59867f4f-b816-ec11-80f5-00155d90fb07/0164f4cfabda8c3661d8f193b5e2133e.pdf 
  3. ทำความรู้จักยุงร้าย พาหะนำโรค. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.bangpakok3.com/care_blog/view/200 

  4.