อันตรายจากไข้เลือดออก ภัยร้ายที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน หนึ่งในโรคที่ควรระวังให้ดีคือ โรคไข้เลือดออก โรคนี้มักมีอาการไข้สูงติดต่อกันหลายวัน ซึ่งหลายคนอาจสับสนกับอาการไข้หวัดใหญ่ เพราะมีอาการที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้การสำรวจอาการด้วยตัวเองมีความแม่นยำมากกว่าเดิม วันนี้จะพาไปรู้ถึงสัญญาณเตือนไข้เลือดออก และวิธีสังเกตอาการไข้เลือดออกที่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่

 

โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายจากยุงลาย ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

 

ไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคระบาดที่มักพบในช่วงฤดูฝน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ซึ่งยุงลายเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน
เมื่อยุงลายกัดคนที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ยุงลายโดยจะมีระยะฟักตัวและเพิ่มจำนวนมากขึ้นในเวลาประมาณ 8-12 วัน จากนั้นเมื่อยุงลายพาหะไปกัดผู้อื่น เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายเข้าสู่ผู้ที่ถูกกัดและทำให้เกิดอาการของโรคไข้เลือดออกนั่นเอง[2]

 

รู้ทันอันตรายจากไข้เลือดออก

 

โรคไข้เลือดออกเป็นอันตรายต่อร่างกาย มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั่วร่างกาย และอาจถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้ว หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการอ่อนเพลีย เกล็ดเลือดลดต่ำลงอย่างมาก มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร รวมถึงอาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่นได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่ออาการดีขึ้น เกล็ดเลือดจะกลับสู่ระดับปกติ ชีพจรและความดันโลหิตจะคงที่ขึ้น และอาการโดยรวมจะดีขึ้นได้เอง[3]

 

ไข้เลือดออก VS ไข้หวัดใหญ่

 

ไข้เลือดออก มักมีอาการไข้สูงเฉียบพลันประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย หนาวสั่น และอาจมีอาการเลือดออกผิวหนัง ตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล หรือถ่ายเป็นเลือดได้ ส่วน ไข้หวัดใหญ่ มีอาการไข้สูงเกิน 39-40 องศาเซลเซียสติดต่อกันหลายวัน ร่วมกับอาการหนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ไอแห้ง หายใจถี่เร็ว และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
อย่างไรก็ดี โรคไข้เลือดออก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสามารถเกิดภาวะช็อกหรือเลือดออกได้ หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่สามารถหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา  โดยยาต้านไวรัสสามารถช่วยบรรเทาอาการและลดระยะเวลาเจ็บป่วยได้
[1]

 

สัญญาณเตือนไข้เลือดออก

 

 

สัญญาณเตือนไข้เลือดออก

 

สัญญาณเตือนไข้เลือดออก คือ อาการที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยอาจติดเชื้อโรคไข้เลือดออก อาการของโรคไข้เลือดออกมักปรากฏขึ้นหลังจากถูกยุงลายกัดประมาณ 5-8 วัน แบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้[4]

 

ระยะไข้สูง

 

อาการของโรคไข้เลือดออกในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเป็นครั้งแรกมักไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยแบบเฉียบพลันติดต่อกัน 2-7 วัน อุณหภูมิจะสูงตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป มีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง[4]

 

ระยะช็อกหรือระยะวิกฤต

 

ระยะช็อกมักเกิดขึ้นหลังจากไข้ลดลงแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำ มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วและอ่อน เหงื่อออกมาก กระสับกระส่าย และอาจมีอาการเลือดออกตามไรฟัน จมูก หรือเหงือก เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ หรือเลือดออกในสมอง หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก อาจถึงแก่ชีวิตได้[4]

 

 

ระยะฟื้นตัว

 

ระยะสุดท้ายของการเป็นไข้เลือดออก เป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มฟื้นตัวจากการเจ็บป่วย อาการต่าง ๆ ค่อย ๆ ดีขึ้น โดยสังเกตได้จากผื่นสีแดงเล็ก ๆ สาก ๆ เป็นวงสีขาวขึ้น ไข้ลดลง อุณหภูมิร่างกายกลับสู่ปกติ ชีพจรเต้นแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น ปัสสาวะออกมากขึ้น และเริ่มมีอาการอยากอาหาร[4]

โรคไข้เลือดออก เป็นหนึ่งในโรคที่ควรระวัง โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่มียุงลายชุกชุม มาทำความเข้าใจสาเหตุของโรค วิธีสังเกตอาการ และวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกกับ Know Dengue เพื่อวางแผนป้องกันคนที่คุณรักจากภัยเงียบของไข้เลือดออกกัน

 

VV-MEDMAT-106233: Jun 2024

 

  1. โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ และโควิด -19 อาการเหมือน ต่างกันอย่างไร. สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566. จาก https://bangpo-hospital.com/dengue-flu-covid/
  2. ไข้เลือดออก (Dengue fever). สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566. จาก https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/dengue-fever
  3. มารู้จัก “ไข้เลือดออก” ภัยร้ายที่อยู่ใกล้ตัว ตอนที่ 2. สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566. จาก https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=258
  4. โรคไข้เลือดออก: สาเหตุและอาการทั้ง 3 ระยะ. สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566. จาก https://bangkokpattayahospital.com/th/health-articles-th/internal-medicine-th/dengue-th/