“อีสุกอีใสเมื่อเป็นครั้งหนึ่ง จะไม่ป่วยซ้ำอีก”
เชื่อว่าประโยคข้างต้นน่าจะเป็นความรู้ที่ติดตัวทุกคนมาตั้งแต่เด็ก ทว่าสำหรับโรคไข้เลือดออก น่าจะมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบว่านอกกจากจะสามารถป่วยซ้ำได้แล้ว ไข้เลือดออกรอบสองยังมีแนวโน้มที่อาการของโรคจะร้ายแรงกว่าครั้งแรกอีกด้วย ดังนั้นการทำความเข้าใจว่าการติดเชื้อครั้งที่สองแตกต่างจากการติดเชื้อครั้งแรกอย่างไรจึงมีความสำคัญในการดูแลตัวเอง ซึ่งบทความนี้จะพาไปสำรวจความแตกต่างในหลายแง่มุม ติดตามได้เลย[1]
มนุษย์สามารถป่วยเป็นไข้เลือดออกได้กี่ครั้ง?
ตลอดชีวิตของคนเราสามารถป่วยเป็นไข้เลือดออกได้มากกว่า 1 ครั้ง และถ้าให้เฉพาะเจาะจงลงไป โอกาสสูงสุดที่จะติดเชื้อคือ 4 ครั้ง เหตุผลก็เพราะไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ (DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4) โดยเมื่อเราติดเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อไวรัสสายพันธุ์นั้น แต่ภูมิคุ้มกันนี้จะไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราถูกยุงลายกัดและได้รับเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์อื่น ก็มีโอกาสที่จะป่วยเป็นไข้เลือดออกซ้ำได้อีก [2]
การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเมื่อป่วยซ้ำ
การที่ไข้เลือดออกรอบสองมีแนวโน้มรุนแรงกว่ารอบแรก สาเหตุหลักมาจากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรก ระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อ แอนติบอดีเหล่านี้จะจำเพาะต่อสายพันธุ์ของไวรัสที่ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม หากติดเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์อื่นในครั้งถัดไป แอนติบอดีจากการติดเชื้อครั้งแรกไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ภาวะที่ทำให้การติดเชื้อไข้เลือดออกครั้ง 2 อาจจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น เรียกว่า Antibody Dependent Enhancement[3]
อธิบายให้เข้าใจแบบง่าย ๆ Antibody Dependent Enhancement คือการที่แอนติบอดีจากการติดเชื้อครั้งแรกจะจับกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แต่แทนที่จะกำจัดเชื้อ แอนติบอดีเหล่านี้กลับส่งเสริมให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ภูมิคุ้มกันได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้การติดเชื้อทวีความรุนแรงและรวดเร็ว[3]
ความรุนแรงของการเจ็บป่วย
เมื่อติดเชื้อครั้งที่สอง ร่างกายต้องเผชิญกับไวรัสต่างสายพันธุ์ ส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้นอย่างมากโดยอาการไข้เลือดออกครั้งที่ 2 อาจเริ่มจากมีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ และที่น่ากังวลคือการรั่วไหลของน้ำออกจากหลอดเลือด นำไปสู่ภาวะช็อคและขาดน้ำ บางรายอาจมีเลือดออกรุนแรง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
แม้จะฟังดูน่ากลัว แต่ในข่าวร้ายก็มีข่าวดีอยู่บ้าง เพราะการติดเชื้อครั้งที่สองมักกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในระดับสูง ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ ทำให้โอกาสติดเชื้อครั้งที่สามและสี่ลดลงอย่างมาก ที่สำคัญคือภูมิคุ้มกันนี้อยู่ได้ยาวนาน บางกรณีอาจอยู่ตลอดชีวิต[4]
การรักษา
ไข้เลือดออกครั้งแรกว่าน่ากลัวแล้ว แต่ไข้เลือดออกรอบสองอาจจะอันตรายยิ่งกว่า ดังนั้น ถ้าใครรู้ตัวว่าป่วยซ้ำ ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยเร่งด่วน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกรอบแรก จึงต้องอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังและดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ในส่วนของการรักษาไข้เลือดออกรอบสองมีความคล้ายคลึงกับการรักษาไข้เลือดออกรอบแรก เนื่องจากปัจจุบันไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกีที่ก่อโรคไข้เลือดออก จึงต้องเน้นการรักษาตามอาการ ประกอบไปด้วย[5]
- ให้น้ำเกลือ: เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำจากการอาเจียน ถ่ายเหลว หรือเลือดออก
- รับประทานยา: เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาแก้คลื่นไส้ หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดบางชนิด เช่น แอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออก
- การติดตามอาการอย่างใกล้ชิด: โดยเฉพาะวัดความดันโลหิต ชีพจร และจำนวนเกล็ดเลือด
- ให้เลือด: ในกรณีที่มีเลือดออกมาก หรือจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ
- การให้ยาสเตียรอยด์: ในกรณีที่มีภาวะช็อก
- การรักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจ: สำหรับผู้ป่วยที่เข้าสู่ภาวะวิกฤติ และไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง
เมื่อได้รู้แล้วว่าอาการไข้เลือดออกครั้งที่ 2 น่ากลัวอย่างไร ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือร่วมผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคไข้เลือดออก ผนึกกำลังสร้างความรู้เกี่ยวกับวิธีป้องกันไข้เลือดออก เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนในการป้องกันและควบคุมโรค ตลอดจนสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมไข้เลือดออกภายใต้บันทึกความเข้าใจ Dengue-Zero เพื่อร่วมผลักดันประเทศไทย สู่สังคมปลอดไข้เลือดออก
V-MEDMAT-106176: JUN 2024
ข้อมูลอ้างอิง:
- Dengue: a continuing global threat สืบค้นวันที่ 30 มกราคม 2567. จาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4333201/
- The dengue viruses. สืบค้นวันที่ 30 มกราคม 2567. จาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC358169/.
- Why a second dengue infection can be deadlier than the first. สืบค้นวันที่ 30 มกราคม 2567. จาก https://www.gavi.org/vaccineswork/why-second-dengue-infection-can-be-deadlier-first.
- ไข้เลือดออกครั้งที่สองต้องระวังจริงหรือ?. สืบค้นวันที่ 12 กรกฎาคม 2567. จาก https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/landaok/
- Dengue Fever . สืบค้นวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 จาก https://www.webmd.com/a-to-z-guides/dengue-fever-reference