รู้หรือไม่ คนที่เป็นไข้เลือดออกรอบ 2 มักจะมีอาการที่รุนแรงกว่ารอบแรก และเสี่ยงเสียชีวิตได้ จึงต้องเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะช็อกจากการติดเชื้อ และเสียชีวิตอย่างกะทันหัน เพราะเมื่อเราหายจากไข้เลือดออก ร่างกายของเราจะป้องกันไม่ให้เราเป็นซ้ำเพียงแค่ 2-3 เดือน แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อในระยะยาวได้[1]
เชื้อไข้เลือดออกมีหลายสายพันธุ์ เป็นแล้วก็เป็นซ้ำได้
ปกติแล้ว เวลาที่เราติดเชื้อไวรัส ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันและลดโอกาสของการเป็นโรคดังกล่าวอีกครั้ง อย่างเช่น อีสุกอีใส ที่เมื่อเป็นแล้ว ร่างกายของเราจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา และโอกาสเป็นซ้ำรอบสองน้อยมาก หรือถึงเป็นซ้ำก็มีอาการน้อย ไม่รุนแรง[2] แต่สำหรับเชื้อไข้เลือดออกนั้นมีความแตกต่างกันออกไป เนื่องจากเป็นแล้ว สามารถเป็นซ้ำในสายพันธุ์ที่แตกต่างออกไปได้[3]
ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 การที่เราติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรก แสดงว่าเราติดเชื้อเพียงแค่ 1 สายพันธุ์ และอาจจะติดเชื้อสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ในเวลาต่อมา[1]
อาการของผู้ที่เป็นไข้เลือดออกครั้งแรก VS ครั้งที่ 2
เป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างหนึ่งคือ อาการของผู้ที่เป็นไข้เลือดออกครั้งแรก มักจะไม่มีอาการที่รุนแรงมากนัก โดยจะมีอาการไข้ขึ้นสูง แต่เมื่อกินยา ไข้ก็จะลดลง และสูงขึ้นสลับกันไป โดยใช้เวลาในการรักษาประมาณ 1 สัปดาห์ขึ้นไป
ส่วนอาการของผู้ที่เป็นไข้เลือดออกรอบที่ 2 มักจะมีอาการที่รุนแรงกว่า โดยมีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน บางรายมีอาการเลือดออกรุนแรง หรือมีน้ำไหลออกจากหลอดเลือด อาจจะทำให้เกิดภาวะช็อกและขาดน้ำได้ ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด[3]
อาการไข้เลือดออก สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้[4]
1.ระยะไข้สูง คนที่เป็นไข้เลือดออกครั้งแรกมักจะเป็นระยะนี้แล้วข้ามไปที่ระยะฟื้นตัวเลย
- มีไข้สูงลอย 39-40 องศาเซลเซียส
- ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อ บางรายอาจจะมีอาการปวดกระดูก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีผื่นแดง หรือจุดเลือดตามตัว
- เบื่ออาหาร
2.ระยะวิกฤต มักเกิดในผู้ที่เป็นโรคไข้เลือดออกรอบ 2 ควรอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์
- เลือดออกที่อวัยวะภายใน
- ตับโต มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
- เลือดกำเดาไหล หรือมีเลือดออกตามไรฟัน
- มีเลือดปะปนมากับปัสสาวะหรืออุจจาระ
- หายใจลำบาก มือเย็น เท้าเย็น เหงื่อออก
- เกิดภาวะช็อกจากการขาดน้ำหรือเสียเลือด
- ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว
3.ระยะฟื้นตัว
- ไข้ลดลง จนเริ่มปกติ
- มีผื่นสีแดงเล็ก ๆ เป็นวงสีขาวขึ้นตามร่างกาย
- ปัสสาวะมากขึ้นกว่าตอนป่วย
ทำไมอาการไข้เลือดออกครั้งที่ 2 จึงทวีความรุนแรงมากขึ้น
หลายคนอาจจะสงสัยว่า โดยทั่วไปแล้วเมื่อเราเคยเป็นหรือเคยรับเชื้อโรคใด ๆ มาก็ตาม ร่างกายมักจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา และเมื่อเป็นครั้งที่ 2 อาการจะไม่รุนแรงเท่ากับครั้งแรก แต่ไข้เลือดออกจะมีความแตกต่างกันออกไป
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อเราเป็นไข้เลือดออก ร่างกายของเราจะสร้าง Antibody (แอนติบอดี) มากกว่าครั้งแรก เพื่อทำลายไวรัสเดงกีอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นการสร้าง Antibody ที่มากเกินกว่าเชื้อไวรัส ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันเกิน (Immune complex reaction) ส่งผลให้ร่างกายเกิดการอักเสบอย่างรุนแรง มีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ท้องเสีย เลือดไหล ถ่ายเป็นเลือด และนำไปสู่ภาวะช็อกและเสียชีวิตได้[1]
ใครเสี่ยงต่ออาการรุนแรงของโรคไข้เลือดออกรอบ 2[1]
ผู้ที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาแล้ว
สตรีมีครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
ผู้ที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง หรือแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
เราสามารถเป็นไข้เลือดออกได้กี่ครั้ง[3]
ด้วยเชื้อไวรัสเดงกี่มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ เราจึงมีโอกาสที่จะเป็นโรคไข้เลือดออกได้ถึง 4 ครั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเป็นโรคไข้เลือดออกครั้งที่ 2 แล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทาน และอาจจะไม่ติดเชื้ออีก หรือมีอาการน้อยลงกว่าเดิมมาก ซึ่งโอกาสของการติดเชื้อครั้งที่ 3 และ 4 จะมีโอกาสน้อยมาก ๆ
อย่างไรก็ตาม โรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้โดยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน 3 ก. คือ เก็บน้ำ เก็บขยะ เก็บบ้าน และ 5 ป. คือ ปิด-เปลี่ยน-ปล่อย-ปรับปรุง-ปฏิบัติ ในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย อีกทั้งยังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรคได้[1]
รวมทั้งป้องกันไข้เลือดออกด้วยการป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กำจัดน้ำขังทั่วบริเวณบ้าน เพื่อปกป้องทั้งตัวเราเองและคนที่เรารัก ไม่ให้ป่วยและเสียชีวิต ติดตามข่าวสารข้อมูลความรู้ และการป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ที่ Know Dengue
VV-MEDMAT-100968: APR 2024