ช่วงฝนตกบ่อย ต้องระวัง 7 โรคที่มากับหน้าฝนไว้ให้ดี

แม้จะมาพร้อมกับบรรยากาศชุ่มฉ่ำที่แสนเย็นสบาย แต่ฤดูฝนก็ยังเป็นหนึ่งในฤดูที่แฝงไปด้วยโรคร้ายมากมายเช่นกัน เพื่อให้คุณสามารถเฝ้าระวังโรคภัยไข้เจ็บที่มักพบได้บ่อยในฤดูฝน เรามาทำความรู้จักกับ 7 โรคที่มาพร้อมกับหน้าฝน เพื่อวางแผนรับมือและเท่าทันกับทุกอันตรายในฤดูฝนกันเลย[1]

 

7 โรคที่มากับหน้าฝน

 

1. โรคไข้หวัดใหญ่

 

โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นหนึ่งในโรคที่มีคนป่วยจำนวนมากในช่วงหน้าฝน เนื่องจากติดต่อกันได้ง่าย และติดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่[3]

สาเหตุ : โรคไข้หวัดใหญ่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) โดยที่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นมีถึง 3 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ (Influenza A) และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (Influenza B) ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการรุนแรง และไข้สูง รวมถึงไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซี (Influenza C) ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการที่มีความรุนแรงน้อยกว่า

อาการ : ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย ไอ จาม และมีน้ำมูก

ความรุนแรง : โดยทั่วไปแล้วอาการของโรคไข้หวัดใหญ่นั้นจะไม่รุนแรงมากนักในผู้ใหญ่ แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด หอบหืด หัวใจ หรือโรคไต

วิธีรักษาเบื้องต้น : หากติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก เมื่อมีไข้สูงสามารถทานยาลดไข้เช่นพาราเซตามอลได้ และหากมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์ทันที

 

2. โรคติดเชื้อทางผิวหนัง

 

นอกจากโรคที่มากับฝนที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสผ่านทางเดินหายใจแล้ว โรคติดเชื้อทางผิวหนัง เช่น โรคมือเท้าปากเองก็เป็นโรคที่ควรระวังในหน้าฝนเช่นกัน[5]

สาเหตุ : โรคติดเชื้อทางผิวหนัง เช่น โรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71)

อาการ : ผู้ที่ติดเชื้อทางผิวหนังมักมีผื่นขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และปาก รวมถึงอาจมีไข้ อาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหารร่วมด้วย

ความรุนแรง : โรคมือเท้าปากอาจรุนแรงถึงชีวิตได้สำหรับเด็กเล็ก แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีอาการที่ไม่รุนแรงในเด็กโตและผู้ใหญ่

วิธีรักษาเบื้องต้น : การรักษาโรคติดเชื้อทางผิวหนังอย่างมือเท้าปาก มักรักษาตามอาการ โดยอาจดื่มน้ำให้มาก ทานยาลดไข้ หากมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์

 

3. โรคฉี่หนู

โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส เป็นโรคที่ต้องระวังในหน้าฝนที่มีน้ำท่วมขังตามจุดต่าง ๆ[4]

สาเหตุ : โรคฉี่หนูเกิดจากการสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปรา (Leptospira) เป็นเชื้อโรคที่พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ ซึ่งมักปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำขัง และพื้นที่ชื้นแฉะ

อาการ : โรคฉี่หนูจะก่อให้เกิดอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ตาเหลือง ตัวเหลือง อาการคอเกร็งแข็ง ความดันโลหิตต่ำ และมีผื่นแดงตามตัว นอกจากนั้น ยังอาจมีอาการรุนแรงอย่างตับ/ไตทำงานผิดปกติ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และม่านตา/เยื่อบุตาอักเสบด้วย

ความรุนแรง : โรคฉี่หนูอาจมีอาการรุนแรงได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะอาจก่อให้เกิดภาวะตับ/ไตทำงานผิดปกติ และระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลวได้

วิธีรักษาเบื้องต้น : โรคฉี่หนูเป็นโรคที่ควรต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์ ดังนั้นจึงต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการของโรคฉี่หนู

 

4. โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร

 

โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร อย่างเช่น อาหารเป็นพิษ และท้องเสีย ก็พบได้มากในหน้าฝนเช่นกัน[2]

สาเหตุ : โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิตที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารหรือน้ำ

อาการ : เมื่อติดเชื้อในทางเดินอาหาร มักเกิดอาการท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง คลื่นไส้ และอ่อนเพลีย

ความรุนแรง : โดยทั่วไปโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารจะไม่รุนแรง แต่อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพอย่างเด็กเล็กและผู้สูงอายุ

วิธีรักษาเบื้องต้น : ดื่มน้ำให้มาก ทานยาแก้ท้องเสีย พักผ่อนให้เพียงพอ และหากมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์ทันที

 

5. โรคปอดบวม ปอดอักเสบ

 

โรคปอดบวม ปอดอักเสบ เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดขึ้นได้ในหน้าฝน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ[7]

สาเหตุ : โรคปอดอักเสบเกิดได้จากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อราผ่านทางเดินหายใจ หรืออาจเกิดจากการสูดเอาสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ อย่างฝุ่น ควัน หรือสารระเหยต่าง ๆ เข้าไปในร่างกายก็ได้

อาการ : ผู้ที่ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบมักมีไข้สูง ไอแห้ง เจ็บหน้าอก และหายใจได้ลำบาก

ความรุนแรง : โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด หอบหืด และโรคหัวใจ

วิธีรักษาเบื้องต้น : หากมีอาการปอดบวม ควรปรึกษาแพทย์ทันที และพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

 

6. โรคตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ

 

โรคตาแดงหรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดจากการติดเชื้อซึ่งเกิดได้บ่อยในฤดูฝน[6]

สาเหตุ : โรคตาแดงหรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเกิดพร้อมกับโรคหวัด หรือการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้

อาการ : อาการของโรคตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบนั้น จะสังเกตเห็นได้ชัดว่าบริเวณตาขาวกลายเป็นสีแดง เยื่อบุตาบวม มีน้ำตาไหล น้ำตาคลออยู่เสมอ และอาจมีอาการคันตาร่วมด้วย

ความรุนแรง : โรคตาแดงโดยทั่วไปแล้วจะไม่รุนแรง สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือการหยอดน้ำตาเทียม หรือยาหยอดตาตามที่แพทย์สั่ง

วิธีรักษาเบื้องต้น : ประคบเย็นที่ดวงตา ระวังไม่จับบริเวณรอบดวงตา ไม่ขยี้ตา และควรไปพบแพทย์เพื่อรับยาอย่างเหมาะสม
 

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบบ่อยในหน้าฝน

 

7. โรคไข้เลือดออก

 

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังให้ดีในหน้าฝน เพราะมียุงเป็นพาหะนำโรค และเนื่องจากยุงจะวางไข่ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ จึงทำให้มีการแพร่พันธุ์ของยุงอยู่มากในฤดูฝน ตลอดจนตามบริเวณที่มีน้ำขัง หรือใกล้แหล่งน้ำจนกลายเป็นพื้นที่ระบาดไข้เลือดออก[8]

สาเหตุ : โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงเป็นพาหะนำโรค หากถูกยุงลายที่เป็นพาหะกัดก็อาจติดเชื้อไข้เลือดออกได้

อาการ : ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน และในระยะที่ 2 อาจมีเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกตามผิวหนัง หรือปนเปื้อนในปัสสาวะและอุจจาระได้ด้วย 

ความรุนแรง : ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกนั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรค และการรักษา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กเล็กนั้นควรต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะอาจรุนแรงถึงชีวิตได้

วิธีรักษาเบื้องต้น : การรักษาโรคไข้เลือดออกนั้นไม่มียาเฉพาะ จึงจำเป็นต้องรักษาตามอาการโดยอาจให้ยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอลได้ แต่ห้ามให้ยากลุ่มแอสไพรินเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เลือดออกมากและหยุดไหลช้าได้

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากไข้เลือดออกสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย จึงควรสำรวจพื้นที่เสี่ยงไข้เลือดออกรอบตัวกับ Know Dengue เพื่อวางแผนป้องกันคนที่คุณรักจากภัยเงียบของไข้เลือดออกอย่างดีที่สุด และอย่าลืมเฝ้าระวังโรคอันตรายที่มาพร้อมฤดูกาลอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน[7]

 

VV-MEDMAT-106234: Jun 2024

Reference
  1. โรคติดเชื้อที่มากับฤดูฝน. สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566 จาก https://www.phyathai.com/th/article/3873-โรคติดเชื้อที่มากับฤด 
  2. โรคฮิต ฤดูฝน ตอนที่ 2 : โรคระบบทางเดินอาหาร . สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566 จาก https://www.bangkokhealth.com/articles/โรคฮิต-ฤดูฝน-ตอนที่-2-โรคร/ 
  3. ไข้หวัดใหญ่. สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566 จาก https://www.bumrungrad.com/th/conditions/influenza 
  4. โรคฉี่หนู ภัยที่มากับหน้าฝน. สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566 จาก https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/leptospirosis https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/leptospirosis 
  5. โรคมือ เท้า ปาก และการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71. สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566 จาก https://www.pidst.or.th/A296.html
  6. ตาแดง โรคที่มักจะมาในหน้าฝน. สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566 จาก https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/โรคตาแดง 
  7. เตือนหน้าฝน ระวังผู้สูงอายุและเด็กเป็นโรคปอดบวม. สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566 จาก https://www.thaihealth.or.th/เตือนหน้าฝน-ระวังผู้สูง/
  8. ไข้เลือดออก (Dengue fever). สืบค้นวันที่ 29 ธันวาคม 2566 จาก https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/dengue-fever