โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี โดยมียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสนี้มาสู่คนที่ถูกยุงลายกัด โรคไข้เลือดออกที่รุนแรงอาจทำให้เกิดอาการป่วยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นไข้สูง อาเจียนรุนแรง ปวดท้อง มีเลือดออกในอวัยวะต่างๆ ไปจนถึงการทำงานผิดปกติของอวัยวะสำคัญต่างๆ นอกจากนั้นยังอาจทำให้เกิดภาวะช็อกหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
โดยมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงถึง 139,719 ราย เสียชีวิต 151 ราย นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 29 พ.ย พ.ศ. 2566 ในประเทศไทยมีสถิติผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกสูงในทุกๆ ปี โดยในปี พ.ศ. 2566 นี้ สถิติผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกพุ่งสูงตั้งแต่ต้นปี โดยมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงถึง 97,398 ราย นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 20 ก.ย. พ.ศ. 2566 ดังนั้นการป้องกันตนเองและคนที่คุณรักจากโรคไข้เลือดออกด้วยการฉีด “วัคซีนไข้เลือดออก” จึงมีความสำคัญและไม่ควรละเลย ในบทความนี้ จะพาคุณมารู้จักกับการป้องกันไข้เลือดออกด้วยการฉีดวัคซีน พร้อมไขข้อสงสัยที่คุณอาจมีเกี่ยวกับข้อดี ข้อเสีย และประโยชน์ของวัคซีนไข้เลือดออก
การป้องกันไข้เลือดออกในประเทศไทยด้วยการฉีดวัคซีน
วัคซีนไข้เลือดออกในไทยเป็นวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิตฤทธิ์อ่อน ที่ทำให้เชื้อไวรัสเดงกีอ่อนฤทธิ์ลงจนไม่ก่อโรค แต่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้รับวัคซีนได้ วัคซีนไข้เลือดออกที่ผ่านการรับรองของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ใช้กันในประเทศไทย การฉีดวัคซีนไข้เลือดออกในประเทศไทยเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้รับวัคซีน โดยป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 4 สายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดในไทย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อ DENV-1, DENV-2, DENV-3 หรือ DENV-4
วัคซีนไข้เลือดออกที่มีใช้ในประเทศไทยมีสองชนิดคือ
- วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่มีแกนหลักเป็นเชื้อไวรัสไข้เหลือง
- วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่มีแกนหลักเป็นไวรัสไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 2
ควรเข้ารับวัคซีนไข้เลือดออกเมื่ออายุเท่าไหร่?
วัคซีนไข้เลือดออกสามารถฉีดในเด็กและผู้ใหญ่ได้ ช่วงอายุที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้เลือดออกคือ
- วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่มีแกนหลักเป็นเชื้อไวรัสไข้เหลือง สามารถฉีดได้ช่วงอายุตั้งแต่ 6-45 ปี
- วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่มีแกนหลักเป็นเชื้อไวรัสไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 2 สามารถฉีดได้ช่วงอายุตั้งแต่ 4-60 ปี
กลุ่มเสี่ยงที่ห้ามฉีดวัคซีนไข้เลือดออก ?
กลุ่มคนเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ผู้ที่อยู่ระหว่างการได้รับยาเคมีบำบัด เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร
จำนวนเข็มของการรับวัคซีนหรือการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก
จำนวนเข็มในการรับวัคซีนแต่ละชนิดเป็นดังนี้
- วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่มีแกนหลักเป็นเชื้อไวรัสไข้เหลือง สามารถฉีดในผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อนหรือตรวจเลือดแล้วพบว่ามีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีอยู่บ้าง แนะนำให้ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ห่างกันทุก 6 เดือน
- วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่มีแกนหลักเป็นเชื้อไวรัสไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 2 สามารถฉีดได้ทั้งในผู้ที่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน และผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน แนะนำให้ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน
การฉีดวัคซีนไข้เลือดออกมีผลข้างเคียงหรือไม่ ?
หลังฉีดวัคซีนไข้เลือดออกอาจพบผลข้างเคียงได้บ้าง ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล โดยทั่วไปผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนไข้เลือดออกจะไม่รุนแรง และหายไปเองภายในไม่กี่วัน ผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ อาการปวด บวม หรือแดงบริเวณที่ฉีด อาการไข้ คลื่นไส้ และไม่สบายตัว บางคนอาจเกิดอาการแพ้วัคซีนชนิดรุนแรงซึ่งพบได้น้อยมาก และจำเป็นต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล
คำถามเกี่ยวกับวัคซีนโรคไข้เลือดออก?
สามารถศึกษาเพิ่มเติมจากบทความ “รู้จักการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก”
Reference:
https://www.cdc.gov/vaccines/vpd/dengue/public/index.html
https://www.healthhub.sg/a-z/medications/661/Dengue%20Vaccine
https://outbreaknewstoday.com/thailand-reports-spike-in-dengue-fever-in-first-5-weeks-of-2023/
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/dengue-vaccine
https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/dengue-vaccine/
https://www.thaitravelclinic.com/blog/th/uncategorized/thai-dengue-vaccine-2023.html
VV-MEDMAT-92263: Sep 2023